คำแถลงนโยบายนายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง
นายทรงชัย วงษ์วัชรดำรง
แถลงต่อสภาเทศบาลเมืองทุ่งสง
สมัยสามัญ สมัยแรก ประจำปี ๒๕๕๕
วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๕
เรียน ประธานสภาเทศบาลเมืองทุ่งสง ที่เคารพ
ตามที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสงเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ และคณะกรรมการเลือกตั้งได้มีประกาศให้กระผม นายทรงชัย วงษ์วัชรดำรง เป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง นั้น
ตามมาตรา ๔๘ ทศ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๑๓) พุทธศักราช ๒๕๕๒ บัญญัติว่า “ก่อนนายกเทศมนตรีเข้ารับหน้าที่ให้แถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลโดยไม่มีการลงมติ ภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลเลือกตั้งนายกเทศมนตรี”
บัดนี้ กระผม ได้กำหนดนโยบายในการบริหารเทศบาลเมืองทุ่งสง โดยยึดหลักคิดตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี โดยใช้กลไกเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม แบบบูรณาการ เป็นเข็มทิศในการพัฒนาเมืองทุ่งสง ด้วยการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมพัฒนา ร่วมตรวจสอบ ร่วมรับผิดชอบและยอมรับผลการพัฒนาเมือง ภายใต้ความรู้สึกเป็นเจ้าของเมืองทุ่งสงร่วมกัน
นโยบายในการบริหารเทศบาลเมืองทุ่งสง ประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วน ๕ เรื่อง และนโยบายการพัฒนา ๕ ด้าน ดังนี้
นโยบายเร่งด่วน(วาระท้องถิ่นเมืองทุ่งสง)
(๑) จัดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ปรับปรุงถนน ทางเท้า ปรับภูมิทัศน์เมือง และยกระดับมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อ จัดทำฐานข้อมูลและจัดระเบียบการขายสินค้าหาบเร่ แผงลอยในเขตเทศบาลให้สำเร็จ
(๒) สานต่อแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ควบคู่กับการป้องกันภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่และอาชีพของคนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
(๓) พัฒนารายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ และการบริหารทรัพย์สินของเทศบาล ขับเคลื่อนการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าระบบรางภาคใต้-ทุ่งสงให้สำเร็จ โดยประสานงานเชิงรุกกับกลไกภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ และขับเคลื่อนโครงการสถานีขนส่งย่อยให้เสร็จสมบูรณ์ เชื่อมโยงการใช้งานกับสถานีขนส่งอำเภอทุ่งสง เพื่อนำมาซึ่งรายได้ในการพัฒนาเมืองในอนาคต
(๔) สนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และจังหวัดนครศรีธรรมราชในเรื่องยาเสพติด โดยป้องกันกลุ่มเสี่ยงและประชาชนในท้องถิ่นไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และส่งเสริมให้ผู้ติดยาเสพติดได้รับการบำบัดรักษาให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม ตามแนวทาง “เมืองสีขาว หัวใจสีเขียว”
(๕) กำหนดมาตรการ “เมืองสีขาว หัวใจสีเขียว”และปฏิบัติการขั้นเด็ดขาดในการขจัดอบายมุขและยาเสพติด รวมทั้งบังคับใช้มาตรการปฏิบัติตามวินัยจราจร และมาตรการประหยัดพลังงานภายในองค์กรเทศบาลเมืองทุ่งสง
นโยบายการพัฒนา
๑. ด้านการพัฒนาการศึกษา ส่งเสริมการกีฬา ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างทุ่งสงเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้”
๑.๑ ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑) เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และไร้พรมแดน เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เด็กและเยาวชนในท้องถิ่น ได้รับการพัฒนาทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เกิดความใฝ่รู้ รักการอ่าน ใฝ่ดีและมีคุณธรรม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีจิตสาธารณะและสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย
๑.๒ ส่งเสริมมาตรฐานการศึกษาเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะด้านภาษาทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่น ๆ รวมตลอดถึงการส่งเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และการกีฬา
๑.๓ เพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา พัฒนาศูนย์เด็กเล็กรีสอร์ทอนุบาลให้ได้มาตรฐาน สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยมุ่งเน้นโรงเรียนเป็นฐาน(SBMLD) กระจายอำนาจด้านงบประมาณ ปรับปรุงคุณภาพการศึกษา พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นมืออาชีพ การจัดหาทุนการศึกษา และส่งเสริมการดำรงชีวิตของเด็กและเยาวชน ประชาชนในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง ให้เป็นผู้ที่สามารถแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
๑.๔ พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ทั้งในระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษาและการศึกษาตามอัธยาศัย พัฒนาอาคารเก่า รสพ. ของการรถไฟเป็นชุมทางประวัติศาสตร์เมืองทุ่งสง(พิพิธภัณฑ์เมืองทุ่งสง) พัฒนาสวนสาธารณะถ้ำตลอด และสวนพฤกษาสิรินธรเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติศึกษา และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างยิมเนเซียมรองรับการพัฒนานักเรียนโรงเรียนกีฬาสู่มืออาชีพ
๑.๕ เสริมสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย โดยใช้กิจกรรมที่หลากหลายเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ พัฒนาพฤติกรรมเด็กและเยาวชนให้มีความเลื่อมใส ศรัทธา ทะนุบำรุงศาสนา ร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี ห่างไกลจากยาเสพติด เสริมสร้างภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ และเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับชุมชน
๑.๖ ส่งเสริมการกีฬาสู่นักกีฬาอาชีพที่หลากหลายประเภทกีฬา และส่งเสริมให้เด็กหนึ่งคนเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพหรือเพื่ออาชีพอย่างน้อยหนึ่งประเภทกีฬา
๑.๗ ส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนฝึกฝนเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยขยายผล การเรียนรู้ “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งดนตรี หนึ่งศิลปะการแสดง หนึ่งศิลปหัตถกรรม”
๒. ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาและส่งเสริมการค้าขาย ของผู้ประกอบการ ทุกประเภท ทุกระดับ และชุมชน ให้สามารถเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และมีขีดความสามารถในการแข่งขัน
๒.๑ ส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาให้เมืองทุ่งสง เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าระบบรางของภาคใต้ เพื่อพัฒนารายได้ของเทศบาลและรองรับการเชื่อมโยงโครงการพัฒนาของรัฐบาล, โครงการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย ( IMT GT ) และรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
๒.๒ ส่งเสริมและพัฒนาให้เมืองทุ่งสงเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าทั่วไป และผลิตภัณฑ์ สินค้า OTOP ที่มีคุณภาพมาตรฐานจากชุมชนต่าง ๆ
๒.๓ พัฒนาปรับปรุงตลาดสดชั้น ๒ ให้เป็นศูนย์เสื้อผ้าที่มีคุณภาพ
๒.๔ ส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
๒.๕ ส่งเสริมให้ภาครัฐ เอกชน จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมอื่น เพื่อส่งเสริมการตลาด และสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น
๒.๖ ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรชุมชน ให้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน
๓. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้อยู่ดีมีสุข อยู่เย็นเป็นสุข อย่างยั่งยืน เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี บ้านเมืองสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปลอดอาชญากรรม มีสุขภาวะ สุขอนามัยที่ดี มีความสุข มีความอบอุ่นในครอบครัว ชุมชนเข้มแข็ง และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี
๓.๑ ส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติแก่เทศบาล โรงเรียนและชุมชน
๓.๒ พัฒนาคุณภาพการบริการ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้บริการเชิงรุกร่วมกับกลุ่ม ชมรมด้านส่งเสริมสุขภาพ ขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐาน รวดเร็ว เป็นธรรม และทั่วถึง ให้บริการตรวจรักษาพยาบาลโดยแพทย์ มีการจัดทำระเบียนผู้ป่วยเพื่อการดูแลอย่างต่อเนื่อง จัดหาเวชภัณฑ์และเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ที่ทันสมัย
๓.๓ ส่งเสริมสุขภาพดี วิถีไทย ได้แก่การให้การสนับสนุนการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก
๓.๔ พัฒนาคุณภาพสวัสดิการผู้ด้อยโอกาส ลดปัจจัยเสี่ยง และสร้างเสริมสุขภาพแก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสและเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวส่งเสริมสนับสนุนการออกกำลังกายทุกรูปแบบ ให้ทุกชุมชนมีลานกีฬา เพื่อส่งเสริมและดูแลสุขภาพของตนเอง
๓.๕ ส่งเสริมกลุ่มผู้สูงอายุ ปราชญ์ชาวบ้าน ในการบริหารจัดการศูนย์ส่งเสริมสวัสดิการผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองทุ่งสง
๓.๖ ส่งเสริมสนับสนุนการออกกำลังกายทุกรูปแบบ ร่วมกับกลุ่ม ชมรมด้านสุขภาพให้ทุกชุมชนมีลานกีฬา เพื่อส่งเสริมและดูแลสุขภาพของตนเอง
๓.๗ ส่งเสริมและให้ความสำคัญต่อกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดี สร้างความอบอุ่น มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันทั้งในระดับครัวเรือน และชุมชน
๓.๘ ส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาขีดความสามารถขององค์การบริหารชุมชนเมือง ให้มีการบริหารจัดการที่ดี ชุมชนเข้มแข็ง และสามารถจัดทำผังและแผนชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ เป็นเครื่องมือนำมาใช้ในการพัฒนาชุมชน และได้รับการจัดสรรงบประมาณจากทางเทศบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ
๓.๙ “ทุ่งสงเมืองสะอาด” พัฒนาปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาความสะอาด ของถนน ทางเท้า รางรถไฟ พื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ของเมือง และส่งเสริมให้มีการพัฒนาดูแลรักษาความสะอาดของพื้นที่อื่นของเมืองให้ครอบคลุมทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน และหน่วยงาน โดยชุมชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม จัดตั้งชมรมรีไซเคิล
๓.๑๐ ขยายระบบบำบัดน้ำเสียให้ครอบคลุมพื้นที่เขตเทศบาล
๓.๑๑ พัฒนาและปรับปรุงสวนสาธารณะถ้ำตลอด สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา สวนพฤกษาสิรินธร เกาะกลางถนนและสวนหย่อมทั่วทั้งเมือง
๓.๑๒ พัฒนาปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรักษาความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน โดยติดตั้งระบบทีวีวงจรปิดครอบคลุมพื้นที่ทั้งเมือง เชื่อมโยงสัญญาณกับบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลไฟฟ้าและแสงสว่างตามถนน ตรอก ซอยและที่สาธารณะ สนับสนุนให้ความร่วมมือกับสถานีตำรวจจัดให้มียามชุมชน ออกตรวจพื้นที่จุดเสี่ยง สร้างความมั่นใจและดูแลความปลอดภัยให้คนในชุมชน ลดการเกิดอาชญากรรมและแหล่งมั่วสุม
๓.๑๓ พัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จัดการสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศให้สมดุล ดูแลบำรุงรักษาป่าไม้ ต้นน้ำ แม่น้ำลำคลอง พื้นที่ชุ่มน้ำ และระบบโครงข่ายน้ำ ประสานงานอย่างบูรณาการในการบริหารจัดการโครงข่ายน้ำระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมทุกพื้นที่และทุกประเด็นการพัฒนา ควบคู่กับการวิจัยและนำผลการวิจัยและนวัตกรรม มาปรับใช้ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเพื่อป้องกันและจัดการภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
๓.๑๔ เตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งสู่เมืองทุ่งสง “เมืองคาร์บอนต่ำ” ตามแนวคิด
- “เมืองแห่งต้นไม้” ดำเนินการและสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของเมือง โดยการปลูกต้นไม้ใหม่และดูแลรักษาต้นไม้เก่า
- “เมืองไร้มลพิษ”เพื่อดูแลจัดการเรื่องขยะและน้ำเสีย ฌาปนสถาน ให้เกิดมลพิษน้อยที่สุด
- “เมืองพิชิตพลังงาน” เพื่อบริหารจัดการเรื่องการลดการใช้พลังงานฟอสซิล ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และส่งเสริมพลังงานสะอาด
- เมืองที่มีการบริโภคอย่างยั่งยืน” ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรเมือง สวนผักในเมือง และนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริโภค
๔. ด้านการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในบริหารงานเทศบาลเมืองทุ่งสงโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ มุ่งผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก บูรณาการทุกภาคส่วน ให้มีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ ร่วมประเมินผล ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลการพัฒนา และร่วมภาคภูมิใจกับความสำเร็จจากผลของพัฒนาเมืองทุ่งสงที่ได้ร่วมกันทำอย่างต่อเนื่องด้วยความรู้สึกรวมเป็นหนึ่งเดียวว่า “ทุกคนเป็นเจ้าของเมืองทุ่งสงร่วมกัน”
๔.๑ พัฒนารายได้โดยกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาเมืองทุ่งสง
๔.๒ ส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการทำงาน
๔.๓ พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
๔.๔ พัฒนาปรับปรุงคุณภาพระบบสื่อสาร และเพิ่มช่องทางการสื่อสาร ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย รวดเร็ว และทั่วถึง เช่น จัดให้มีอินเตอร์เน็ตไร้สายทั่วเมือง ระบบส่งข่าวโดย SMS วิทยุชุมชน เว็บไซต์ เฟสบุ๊ค และสายด่วนนายกฯ
๔.๕ พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบการให้บริการ มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย ให้มีมาตรฐานการบริการ บริการด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม มีสิทธิเท่าเทียมกัน ประชาชนได้รับด้วยความสะดวก รวดเร็ว มีความพึงพอใจสูงสุด เตรียมการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
๔.๖ ปรับปรุงระบบการบริหารงานเทศบาลโดยนำระบบการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่เป็นแนวทางดำเนินงานสู่การปฏิบัติในเทศบาล เช่น ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารทรัพยากรบุคคลโดยพัฒนาสมรรถนะ และพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของบุคลากร สร้างทัศนคติเชิงบวก และจิตสาธารณะเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างสร้างสรรค์ นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการ สร้างระบบการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพมาใช้บริหารงานเทศบาลและบริหารการพัฒนาเมืองทุ่งสง จัดทำตัวชี้วัดใช้วัดผลการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในระดับบุคคลและองค์กรให้เกิดความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด
๕. ด้านการวางผังเมืองและผังชุมชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม การจัดการความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การจัดการจราจร และภูมิทัศน์ของเมือง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการจัดการภัยพิบัติอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม ภัย